การป้องกันและแก้ไขภาวะเซลล์ชรา
การดูแลสุขภาพระดับเซลล์
ไฟป่า ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้น เป็นวิธีการหนึ่งที่ธรรมชาติทำการควบคุมความเสียหายที่เกิดขึ้น ตรงข้ามกับที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน ความจริงแล้ว ไฟป่า (ตามธรรมชาติ) เป็นสิ่งดีต่อธรรมชาติ ตราบใดที่เป็นไฟป่าที่เกิดบ่อยครั้ง, ไม่รุนแรง และควบคุมได้ เป็นสิ่งที่จะช่วยทำความสะอาดผืนป่า, เปิดพื้นที่ให้แสงอาทิตย์ส่องถึง และบำรุงผืนดินให้อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ไฟป่ายังช่วยกำจัดต้นไม้ที่อ่อนแอทิ้ง เพื่อให้ต้นที่แข็งแรงกว่ามีพื้นที่ในการเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะก่อให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ที่กว้างขวาง และอุดมสมบูรณ์ขึ้น สำหรับอาณาจักรพืชและสัตว์
นอกจากนี้ ไฟป่ายังช่วยกำจัดโรค และโรคระบาดต่างๆ ที่สามารถจะฆ่าต้นไม้ต้นพืชที่แข็งแรง และหลังจากไฟป่าสงบลงแล้ว พืชพันธุ์ไม้ที่ไหม้ไฟ จะกลายเป็นปุ๋ยทับถมลงสู่ดิน เพื่อไปเลี้ยงดูแลต้นไม้แข็งแรงที่ยังอยู่ และนี่เองเป็นการทำให้วงจรชีวิตเคลื่อนไหวไปอย่างต่อเนื่อง เชื่อหรือไม่ว่า มีต้นไม้บางชนิดที่ต้องพึ่งพาการเกิดไฟป่าเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด และสามารถสืบพันธุ์วงศ์ตระกูลของตัวเองได้
สิ่งที่เกิดกับต้นไม้ และไฟป่า ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบร่างกายของมนุษย์เช่นเดียวกัน ในระบบของร่างกาย ก็มีการกวาดล้างเซลล์เก่า และทดแทนด้วยเซลล์ใหม่ เซลล์ในร่างกายของเรามีการตายและทดแทนด้วยเซลล์ใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมชาติเพื่อช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ การควบคุมเซลล์ที่ตาย ก็เหมือนกับไฟป่าตามธรรมชาติที่ควบคุมต้นไม้ เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ร่างกายของเราใช้เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงปราศจากโรค
เมื่อไรที่ร่างกายหยุดควบคุมเซลล์ที่ตายไป, ล้มเหลวในการกำจัดเซลล์เหล่านั้นทิ้ง หรือเมื่อเซลล์ที่เสื่อมสภาพนั้นตัดสินใจที่จะ "ขี้โกง" เมื่อนั้นปัญหาร้ายแรงก็สามารถเกิดขึ้นได้ ในที่สุดเซลล์จะเต็มไปด้วยของเสีย และสารพิษ และเกิดสภาวะในร่างกายที่จะเร่งกระบวนการแก่, ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน และแม้กระทั่งสามารถทำให้เกิดเป็นมะเร็งได้
การฟื้นฟูเซลล์: ทำงานอย่างไร
ถ้าจะพูดไปแล้ว ในสภาพแวดล้อมทางชีววิทยาปกติ ร่างกายของเราที่ประกอบไปด้วยเซลล์จำนวน 100 ล้านล้านเซลล์นั้น ก็เปรียบเหมือนต้นไหม้ที่ถูกไฟไหม้อยู่ตลอดเวลา เซลล์ที่หมดอายุขัยแล้วจะถูกกำจัดและกวาดล้างออกอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะให้เซลล์ใหม่เข้ามาแทนที่ หากเซลล์ใดเซลล์หนึ่งไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีกต่อไป มันจะทำการซ่อมแซมตัวเอง หรือไม่ก็ "ฆ่าตัวตาย" โดยกระบวนการที่รู้จักกันดีว่า apoptosis นี่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และช่วยให้ร่างกายเกิดความสมดุลย์ และทำงานได้อย่างราบรื่น
เนื่องจากเซลล์เป็นโครงสร้างพื้นฐานของทุกๆอวัยวะ และทุกระบบในร่างกาย ดังนั้น จึงมีความสำคัญที่เซลล์ทั้งหมดต้องอยู่ในคุณภาพมาตรฐานสูงสุด เซลล์ที่มีความบกพร่อง จะทำให้ทุกระบบในร่างกายอยู่ในความเสี่ยง จึงต้องถูกกำจัดทิ้ง เราเรียกกระบวนการนี้ว่า cellular regeneration (การฟื้นฟูเซลล์) มันคล้ายๆกับหน่วยควบคุมคุณภาพในโรงงานผลิต ที่ซึ่งส่วนประกอบที่ดีที่สุดเท่านั้นที่จะผ่านสายการผลิตออกมาเป็นสินค้าได้ ชิ้นส่วนที่ไม่ผ่านคุณภาพก็ถูกโยนเข้ากองขยะไป
ดังนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการคงสภาพความสมบูรณ์ของระบบเซลล์โดยรวม ถึงแม้ว่า เซลล์แต่ละเซลล์จะถูกโปรแกรมให้ทำหน้าที่เฉพาะแตกต่างกันไป แต่เซลล์ทั้งหลายก็ต้องทำงานร่วมกันให้อวัยวะหรือร่างกายทำงานได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นเหตุผลว่า เซลล์ทั้งหมดจะต้องอยู่ในสภาพดีเยี่ยม โดยไม่มีพวกที่ทำงานบกพร่อง
Cellular regeneration มีความสำคัญต่อการคงความสมบูรณ์แข็งแรงของดีเอ็นเอมนุษย์ด้วย เซลล์ที่แข็งแรง ทำหน้าที่เหมือนเกราะกำบังที่ป้องกันพิมพ์เขียวเหล่านี้ให้ปลอดภัยอยู่ในนิวเคลียส ที่ซึ่งจะไม่ถูกรบกวนหรือทำให้เสียหายได้ ในทางตรงกันข้าม เซลล์ที่หมดอายุแล้ว ก็เหมือนบ้านเก่าๆที่หลังคารั่ว ทำให้รหัสพันธุกรรมมีความเสี่ยงจากสารหลากหลายชนิดที่อาจก่อความเสียหายขึ้นได้
และนี่เองคือเหตุผลที่เซลล์ที่ทำงานไม่ได้แล้ว หรือหมดอายุแล้ว จะต้องมีการฟื้นฟูตัวเองใหม่ หรือไม่ก็ต้องถูกกำจัดออกไป จึงจะทำให้ระบบต่างๆของร่างกายทำงานได้อย่างถูกต้อง สามารถที่จะดูดซึมสารอาหารจากอาหารที่รับประทานเข้าไป, เปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงาน, ใช้พลังงานเพื่อรักษาอวัยวะและเนื้อเยื่อให้สมบูรณ์แข็งแรง และสืบพันธุ์และเพิ่มจำนวนได้ตามความจำเป็น ซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์
Cellular Senescence (เซลล์ชรา): เมื่อเซลล์หันสู่ด้านมืด และปฏิเสธที่จะตาย
เมื่อตอนที่เราอายุยังน้อย ร่างกายของเราจะทำหน้าที่ทุกอย่างได้อย่างดี กำจัดเซลล์เก่าออกไป ทดแทนด้วยเซลล์ใหม่ แต่เมื่ออายุเรามากขึ้น ชีวิตก็มีเรื่องต่างๆเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินที่ไม่ค่อยมีประโยชน์, ขาดการออกกำลังกาย และชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียด จึงส่งผลให้กระบวนการฟื้นฟูเซลล์นั้นทำงานผิดพลาดไป หากยังคงเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะเกิดเป็นอาการผิดปกติที่รุนแรงมากขึ้น และก่อให้เกิดเป็นโรคเรื้อรังตามมา
เซลล์ชรา เป็นเซลล์ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติแล้ว แต่ก็ไม่ถูกทำลายไป คล้ายๆอยู่ในภาวะ "ซอมบี้" เซลล์เหล่านี้ เป็นเซลล์ที่ได้รับความเสียหายจากความเครียดที่เกิดขึ้น ทั้งจากภายในร่างกายเอง และจากแหล่งที่มาจากภายนอก แต่ไม่เกิดการซ่อมแซมตัวเอง หรือไม่เกิดการทำลายตัวเองทิ้ง และทั้งๆที่ไม่สามารถทำหน้าที่ใดๆได้แล้ว เซลล์ชราเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในอวัยวะนั้นๆต่อไป
อธิบายให้ชัดเจน ; เซลล์ปกติที่มีการเสื่อมสภาพหรือเสียหาย จะถูกโปรแกรมให้ซ่อมแซมตัวเอง หรือไม่ก็ทำลายตัวเองทิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ แต่ senescent cells (เซลล์ชรา) จะแตกต่างคือ พวกมันไม่สามารถซ่อมแซมตัวเอง และไม่สามารถทำลายตัวเองได้ แต่จะคอยอยู่เพื่อขัดขวางวงจรชีวิต เหมือนท่อระบายน้ำอุดตัน เซลล์ชราเหล่านี้จะเป็นเหมือนเมือกเหนียวสกปรกที่เกาะตามเส้นทางการทำงานของร่างกาย และไปขัดขวางกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระดับพลังงานของร่างกาย, รบกวนการนอนหลับ, อวัยวะทำงานผิดปกติ ฯลฯ
การวิจัยหนึ่งอธิบายว่า cellular senescence เป็น “การที่เซลล์หยุดเพิ่มจำนวนอย่างถาวร เกิดเมื่อเซลล์เผชิญภาวะ oncogenic stress” [หมายเหตุ: Oncogenic หมายถึง มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมะเร็งหรือเนื้องอก] เซลล์ชรา เป็นเซลล์ที่เสียหายอย่างถาวร ไม่สามารถทำหน้าที่อะไรได้ต่อไปแล้ว แต่ไม่ถูกทำลายไป
นี่ย่อมทำให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงว่า "ซอมบี้เซลล์" พวกนี้ จะยังคงสะสมอยู่ในร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไปจะส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้มีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นซึ่งเราก็คุ้นเคยกันดี อย่างเช่น:
- แก่เร็ว
- เมทาบอลิซึมต่ำ
- มีการสะสมไขมัน
- ข้อขัดและปวดข้อ
- ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สมดุลย์
- ความจำเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น
ยิ่งมีเซลล์ชราสะสมมากขึ้นเท่าไร ก็จะมีการสร้าง pro-inflammatory cytokines เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น มีการวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่าไซโตไคน์พวกนี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเพิ่มจำนวนเซลล์ที่ผิดปกติ ด้วยเหตุผลนี้ เซลล์ชราพวกนี้จึงไม่ได้ดีไปกว่าเซลล์มะเร็งแต่อย่างใดเลย หากพวกมันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็งเสียเอง และการอักเสบ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องดีเลยอย่างที่เรารู้กัน
มีการวิจัยหนึ่ง สรุปว่า เนื่องจากเซลล์ชรามีความโน้มเอียงที่จะก่อให้เกิดสภาพเสื่อม ดังนั้น เซลล์ชราเหล่านี้จัดเป็น ตัวก่อมะเร็ง ในขณะที่เซลล์ชราเหล่านี้มีปริมาณสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เกิดสภาวะที่ “เอื้อต่อการเจริญเติบโตของมะเร็ง”
จะทำอย่างไรเพื่อให้ Cellular Senescence เกิดน้อยที่สุด
มีหลายวิธีที่จะช่วยต่อสู้กับ cellular senescence และช่วยให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลย์ เหมาะกับการฟื้นฟูเซลล์ วิธีหนึ่งที่ได้ผลดีมากคือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสม
โภชนาหาร เป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพในการต่อสู้กับ "ซอมบี้เซลล์" นอกจากจะช่วยให้ร่างกายกำจัดเซลล์เหล่านี้ทิ้งแล้ว ยังเป็นการป้องกันเซลล์ชราเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรกอีกด้วย หลักฐานจากบทความทางวิทยาศาสตร์มากมายที่แสดงให้เห็นว่า การขาดสารอาหารเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิด cellular senescence
Low-glycemic diets (อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ) มี micronutrients สูง เช่น วิตามิน, เกลือแร่, phytochemicals (สารพฤกษเคมี) และสารต้านอนุมูลอิสระ ปราศจากส่วนผสมแปรรูป, น้ำตาลขัดขาว และสารเคมีที่ทำลายสุขภาพ เหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับภาวะเซลล์ชราได้ สารอาหารที่มีประโยชน์เหล่านี้ ช่วยในการผลิตเอ็นไซม์ช่วยย่อย และฮอร์โมน และยังช่วยในเรื่องต่างๆต่อไปนี้ :
- เปลี่ยนคาร์โบไฮเดรต, ไขมันและโปรตีน ให้เป็นพลังงาน
- ช่วยให้กระบวนการเมทาบอลิซึมเกิดขึ้นได้ดี
- ลดการเกิดอนุมูลอิสระ และ oxidative damage ซึ่งนำไปสู่การอักเสบ
- ปกป้องสมอง
- ส่งเสริมการสร้างกระดูก
- ช่วยในการสร้างดีเอ็นเอ
- ซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย
- ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อ และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ
ATP: พลังงานสำหรับไมโตคอนเดรีย
หนึ่งในสารสำคัญที่เซลล์ต้องการเพื่อที่จะทำงานได้ คือ adenosine triphosphate หรือ ATP micronutrients จะทำหน้าที่เป็นโคแฟกเตอร์ในการสร้าง ATP หากปราศจาก micronutrients ไมโตคอนเดรียในเซลล์ก็จะขาดพลังงาน
ข้อมูลการวิจัยในปัจจุบันแนะว่า มนุษย์จำเป็นต้องได้รับ micronutrients มากกว่า 50 ชนิด จาก 3 กลุ่มหลักๆ ดังนี้ :
1. วิตามินเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพระดับเซลล์ ช่วยปกป้องร่างกายจากการเกิด oxidative stress ช่วยชะลอความชรา และปกป้องร่างกายจากการเกิดมะเร็งด้วย มีวิตามิน 13 ชนิด ที่จำเป็นต่อร่างกายเป็นอย่างมาก มีทั้งวิตามินที่ละลายในน้ำ และละลายในน้ำมัน
วิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่ กลุ่มวิตามินบีทั้งหมด ได้แก่ B1 (thiamine), B2 (riboflavin), B3 (niacin), B5 (pantothenic acid), B6 (pyridoxine), B7 (biotin), B9 (folate), B12 (cobalamin) รวมทั้งวิตามิน C
เนื่องจากวิตามินที่ละลายในน้ำพวกนี้จะสูญเสียได้ง่ายทางเหงื่อ และปัสสาวะ ดังนั้น จึงต้องรับประทานในปริมาณเยอะในทุกๆวัน วิตามินเหล่านี้จะทำงานร่วมกันในการเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย
วิตามินที่ละลายในน้ำมันก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากสามารถเก็บสะสมอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานาน เราจึงไม่ต้องรับประทานในปริมาณมาก ได้แก่ วิตามิน A, D, E, และ K
2. เกลือแร่ เกลือแร่มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของเราอย่างมาก ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก, เมทาบอลิซึม, บำรุงสมอง และช่วยให้เรามีอายุยืนยาว มีเกลือแร่อย่างน้อย 18 ชนิด ที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ซึ่งรวมถึงเกลือแร่ในกลุ่ม “macro-minerals,” หรืออิเล็กโทรไลต์ เกลือแร่เหล่านี้ ได้แก่ calcium, magnesium, potassium, และ sodium รวมทั้งเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย (“trace” minerals) เช่น copper, iodine, iron, manganese, selenium, และ zinc
3. Antioxidants (สารต้านอนุมูลอิสระ) รวมถึงวิตามินและเกลือแร่บางชนิดด้วย Antioxidants พบมากในผัก ผลไม้, ถั่ว ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงในทุ่งหญ้า การมีสุขภาพดี หมายถึงต้องมีปริมาณ antioxidants ในร่างกายอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะ antioxidant ตัวที่สำคัญที่สุด คือ “master” antioxidant ซึ่งก็คือ glutathione peroxidase
การเพิ่มปริมาณ Glutathione ในร่างกาย, “the Master Antioxidant”
glutathione peroxidase ถูกเรียกว่าเป็น “the mother of all antioxidants” glutathione peroxidase มีอยู่ในเซลล์ทุกเซลล์ของร่างกาย และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบภูมิคุ้มกัน กลูตาไธโอน ช่วยในเรื่องการทำงานของเอ็นไซม์, การกำจัดสารพิษ, ต้านการอักเสบ และส่งเสริมกระบวนการ programmed cell death (โปรแกรมการตายของเซลล์ หรืออะพอบโทซิส) ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถต่อต้านการเกิด cellular senescence ได้โดยตรง
การรับประทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำ จะช่วยให้ร่างกายสร้างกลูตาไธโอนมากขึ้นตามธรรมชาติ :
Cruciferous vegetables (ผักตระกูลกะหล่ำปลี ได้แก่ ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี คะน้า กะหล่ำปม บรอกโคลี) และผักใบเขียว ผักตระกูลกระหล่ำปลี มีกรดแอมิโน (amino acid) ที่ในโมเลกุลมีซัลเฟอร์อยู่ในปริมาณสูง ซึ่งช่วยทำให้ระดับกลูตาไธโอนในร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลย์ ผักชนิดอื่นๆที่มีปริมาณซัลเฟอร์สูง เช่น ผักกาดกวางตุ้ง, ผักเคล, ผักกาดเขียวปลี, หัว
Brazil nuts (ถั่วบราซิล) หนึ่งในสารอาหารที่เป็นสารตั้งต้นของกลูตาไธโอนที่ดีที่สุด และมนุษย์เรารู้จักกันดีคือ selenium (ซีลีเนียม) และหนึ่งในอาหารที่มีปริมาณซีลีเนียมมากที่สุดในโลกก็คือ Brazil nut แค่ 6-8 เมล็ด ก็มีปริมาณซีลีเนียมประมาณ 544 ไมโครกรัม ซึ่งก็มากกว่า 100% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน อาหารอื่นๆที่มีปริมาณซีลีเนียมสูงอีก เช่น เนื้อวัวที่เลี้ยงด้วยหญ้า, ปลาที่จับมาจากธรรมชาติ เช่น ปลาทูน่าครีบเหลือง, ปลาแฮลิบัต และปลาซาร์ดีน, ไก่ และไข่จากไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อย และผักปวยเล้ง
อาหารที่มีโฟเลตสูง การรับประทานอาหารที่มีกลุ่มวิตามินบีอย่างครบถ้วน หรือบางทีเราเรียกว่า methylation nutrients เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิต glutathione ทั้งหมดนี้คือ vitamins B6, B9, B12 และ biotin โฟเลต (ไม่ใช่กรดโฟลิก ซึ่งเป็นรูปแบบสังเคราะห์) เป็นหนึ่งในสารอาหารแรกๆที่ร่างกายต้องใช้ในการสร้างเซลล์ใหม่ และยังช่วยในการถอดรหัส DNA จากเซลล์เก่าไปสู่เซลล์ใหม่ อาหารที่มีโฟเลตสูง เช่น garbanzo beans (ถั่วลูกไก่ ), ตับ, pinto beans (ถั่วปินโต), ถั่ว lentils, spinach (ปวยเล้ง ), asparagus (หน่อไม้ฝรั่ง), อะโวคาโด, หัวบีท, ถั่วตาดำ และบร็อคโคลี่
เวย์โปรตีน เป็นอาหารชั้นดีที่เพิ่มระดับ glutathione ในร่างกาย whey protein มีกรดอะมิโนชนิดพิเศษ คือ cysteine (ซีสเทอีน) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการสร้าง master antioxidant ในร่างกาย whey protein ที่ได้จากวัว หรือแพะที่เลี้ยงด้วยหญ้านั้นดีที่สุด ซึ่งมีกรดอะมิโนที่จำเป็นอื่นๆมากมายที่จำเป็นต่อการทำงานของเซลล์
Camu Camu berry และอะเซโลรา เชอร์รี่ วิตามินซี เป็นหนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ที่สุด และยังเป็นสารตั้งต้นของกลูต้าไธโอนด้วย อาหารที่มีวิตามินซีสูง จึงเป็นส่วนสำคัญในการทำให้สุขภาพดี Camu Camu berry และอะเซโลรา เชอร์รี่เป็นอาหารที่มีวิตามินสูง และอยู่ในรูปแบบที่ร่างกายนำไปใช้ได้ 100% อาหารอื่นๆที่มีวิตามินซีสูงอีก เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว, พริก, kale, Brussels sprouts (กะหล่ำดาว) และ broccoli
อาหารที่มีวิตามินอีสูง วิตามินซี ช่วยเพิ่มระดับกลูต้าไธโอนในเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ส่วนวิตามินอีจะช่วยปกป้องร่างกาย และเอ็นไซม์จาก oxidative stress ทั้งคู่จึงทำงานเสริมกันและกัน ดังนั้น เราจึงควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น อัลมอนต์ และถั่วอื่นๆ, ผักใบเขียว, มันเทศ และ avocado
วิตามินอี แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ : โทโคฟีรอล และ โทโคไตรอีนอล และแบ่งย่อยออกเป็น อัลฟ่า, เบต้า, แกมม่า และเดลต้า วิตามินอีจึงแบ่งออกเป็น 8 ชนิดแตกต่างกัน ซึ่งก็มีคุณสมบัติในการปกป้องเซลล์แตกต่างกันไป
ตับวัว ตับของสัตว์เป็นแหล่งที่มีสารอาหารอยู่สูง โดยเฉพาะตับจากวัวที่เลี้ยงแบบปล่อยในทุ่งหญ้า จะอุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยสร้างกลูต้าไธโอนอยู่สูง เช่น ซีลีเนียม
Milk thistle (มิลค์ ทิสเซิล) เป็นสมุนไพรที่นิยมใช้มาก milk thistle (silymarin) ช่วยเพิ่มระดับกลูต้าไธโอนในร่างกายโดยตรง จากการศึกษาวิจัย เผยว่า มิลค์ ทิสเซิล ช่วยปกป้องตับ และท่อน้ำดี และยังช่วยฟื้นฟูตับที่เป็นพิษจากการบริโภคแอลกอฮอล์อีกด้วย